เพราะเบื่อซื้อลูกกระสุนเลยต้องทำเอง   นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2538)

เพราะเบื่อซื้อลูกกระสุนเลยต้องทำเอง นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2538)

วิสัย โสตถิวันวงศ์ เพราะเบื่อซื้อลูกกระสุนเลยต้องทำเอง

นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2538)

ปัง ปัง ปัง ! เสียงซ้อมยิงปืนในสนามนวมินทราชินี ดังอย่างกึกก้อง ชายผู้เสร็จสิ้นจากการซ้อมยิงปืนเดินมาที่โต๊ะพักผ่อน

“ผมจะผลิตลูกกระสุนและปืนขายครับ เพราะเบื่อที่มันขาดตลาดอยู่เรื่อย” วิสัย โสตถิวันวงศ์ กรรมการผู้จัดการกลุ่ม วิว แอนด์ ซีเอส และเจ้าของสนามตัวจริงกล่าวกับ “ผู้จัดการ”

“ผมเริ่มเล่นกีฬายิงปืนเมื่อราว 9 ขวบ ตั้งแต่ปืนสั้นยิงช้า ปืนลมและอีกหลายชนิด จากวันนั้นจนบัดนี้ ผมก็ยังไม่เห็นว่าปัญหาเรื่องกระสุนซ้อมขาดตลาดบ้านเรามันจะหมดไป ทุกครั้งที่ผมต้องการสอบให้ได้ 100 แต้ม ผมต้องซื้อกระสุนของต่างประเทศทุกครั้ง แพงกว่าบ้านเราตั้ง 3 เท่า ไม่ใช้ก็ไม่ได้ เพราะกระสุนบ้านเราไม่ได้มาตรฐาน จากนั้นมาผมก็เริ่มศึกษาวิธีที่จะเปิดโรงงานผลิตกระสุนปืน และก็ทำเลยเมื่อมีโอกาส โดยขณะนี้โรงงานและเครื่องจักรโอเคแล้ว รอชุดสุดท้ายเข้ามาเท่านั้นเอง ซึ่งจากวันเริ่มขออนุญาตจนถึงวันนี้กินเวลาไป 5 ปี ท้อใจเหมือนกัน ฉะนั้นโรงงานทำกระสุนจึงไม่ใช่ธุรกิจที่ขอทำกันง่าย ๆ เลย”

ที่ไม่ง่ายของวิสัยก็คือ 13 ขั้นตอน ของการขอใบอนุญาตจาก 13 หน่วยงานของรัฐ อาทิ กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์พัฒนาป้องกันประเทศ กรมการพลังงานทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ไปจนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีการประชุม กันเดือนละครั้งเท่านั้น นั่นก็หมายถึงว่า 1 ใบอนุญาตใช้เวลาถึง 13 เดือนหรือมากกว่านั้นหากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเลื่อนประชุมกัน

นี่แค่เฉพาะใบอนุญาตเปิดโรงงานผลิตเท่านั้น ยังไม่นับเครื่องจักร วัตถุดิบ ซึ่งต้องขออนุญาตเป็นส่วน ๆ และทุกครั้งต้องผ่านทั้ง 13 ขั้นตอนเช่นกัน

รวมไปถึงการล็อบบี้จากผู้เสียผลประโยชน์ในประเทศ อาทิ ปล่อยข่าวแก่ทางหน่วยงานราชการทั้ง 13 หน่วยงานให้เข้าใจไขว้เขวจนวิสัยต้องวิ่งรอกอธิบายชี้แจงกัน ไม่ใช่แค่เดือนเดียว แต่เป็นตลอดช่วงเวลาสี่ห้าปีจนได้รับอนุมัติให้ตั้งโรงงานได้เมื่อ 26 เมษายน 2537 สัญญาสิ้นสุด 26 เมษายน 2547 ซึ่งเมื่อหมดอายุแล้วก็ต้องขอต่อใบอนุญาตกันใหม่

แต่วิสัยก็ไม่ย่อท้อ เพราะตัวเลขมูลค่ารวมตลาดกระสุนเมืองไทยปีที่แล้วสูงถึงกว่า 180 ล้านบาท กำลังรอเขาอยู่

90% ของตลาดกระสุนทั้งหมดในไทย เป็นกระสุนซ้อม อีก 10% เป็นกระสุนจริง ซึ่งความต้องการจริงมีมากกว่านี้หลายเท่า แต่เนื่องจากบริษัทไทยอาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตกระสุน ไม่สามารถสนองตลาดได้เต็มที่ และก็ไม่มีทีท่าว่าจะสนองตลาดตามความต้องการจริง ฉะนั้นตัวเลขรวมของกระสุน 180 ล้านบาท จึงตกไปให้ต่างประเทศอีกกว่า 100 ล้านบาท

ผลของการไม่มีกระสุนให้สมาชิกซ้อมยิงอย่างเพียงพอ บางรายก็ไม่สามารถซื้อกระสุนในราคาที่ไทยอาร์มเสนอมาได้กระสุนไม่พอ สมาชิกไม่เข้า ก็มีผลให้สนามยิงปืน 102 สนามที่มีอยู่ทั่วประเทศขณะนั้น ต้องพับลงไปจนเหลืออยู่ประมาณ 60 สนามเท่านั้น การที่จะซื้อกระสุนต่างประเทศมาขายก็เป็นไปได้ยาก เพราะร้านค้าปืนต่างก็ได้สิทธิ์การขายกันอยู่แล้ว โดยขายแพงกว่ากระสุนที่ผลิตในประเทศถึง 3 เท่าตัว ซึ่งทุกคนที่เป็นนักเล่นปืนจริง ๆ ก็ต้องจำใจซื้อ เพราะไม่มีทางเลือก เนื่องจากกระสุนที่ผลิตในประเทศไม่ได้มาตรฐานพอที่จะใช้ยิงซ้อมเพื่อแข่งเอาแต้มได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแรงดันรังเพลิง ดินปืน ดินส่งกระสุน หัวกระสุน แก๊ป ไปจนถึงปลอกกระสุน

“จำเป็นด้วยหรือที่เราต้องเสียดุลการค้าให้ต่างชาติ” วิสัยกล่าวพร้อมชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ในการตั้งโรงงานว่า เพื่อช่วยลดดุลการค้ากับต่างชาติ และเพื่อให้คนไทยมีกระสุนที่ได้มาตรฐานในราคาเหมาะสม และเพื่อเป็นการลดการผูกขาด จากที่มีเพียงไทยอาร์มผลิตแค่บริษัทเดียว อีกทั้งเพื่อเป็นการช่วยเหลือสนามยิงปืน ทั้งที่ยังดำเนินการอยู่และรายที่ต้องปิดกิจการไปเพราะไม่มีกระสุนรองรับสมาชิก จะได้ลุกขึ้นมาได้อีก

“ถ้าเรามีลูกปืนเพียงพอเมื่อไหร่ สนามยิงปืนบางแห่งที่เอาไปปลูกมะเขือจะกลับมาเปิดอีกแน่นอน และจำนวนอาจจะเพิ่มขึ้นหรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

เป็นไปได้ว่า เมื่อวิสัยตั้งโรงงานแล้ว มูลค่าตลาดรวมอาจจะไปถึง 500 ล้านบาท ถ้าเขาส่งเสริมการตลาดได้เป็นผล และแน่นอนกว่า 50% ของยอดขายรวมก็น่าจะเป็นบุลเล็ทมาสเตอร์ของเขา

โรงงานบุลเล็ทมาสเตอร์ จะแบ่งแผนงานเป็นช่วง ๆ ละ ประมาณ 5 ปี ในช่วงแรกกำลังการผลิตประมาณ 700,000 นัดต่อเดือน ซึ่งความสามารถของเครื่องจักรยี่ห้อซานโฮเซ่ ของเบลเยี่ยมนี้ผลิตได้ถึง 20,000 นัดต่อชั่วโมงในกรณีเดินเครื่องเต็มพิกัด แต่วิสัยจะให้อยู่ที่ 10,000 ต่อชั่วโมง เพราะเป็นจำนวนที่เครื่องจักรจะผลิตได้ดีที่สุด แล้วหลังจากนั้นบุลเล็ทมาสเตอร์จะเพิ่มกำลังการผลิตทั้งหมดให้ได้ถึงหนึ่งล้านนัดต่อเดือน

จากนั้นก็จะผลิตปลอกกระสุนและกระสุนจริงต่อเลย เพื่อจะส่งประมูลกับกรมตำรวจ หรือหน่วยงานราชการเช่นกระทรวงมหาดไทย หรือที่อื่น ๆ ที่ต้องการซื้อ และจะเริ่มขออนุญาตผลิตกระสุนลูกซองต่อในปีหน้า

“โรงงานผลิตกระสุนจะกำไรหรือไม่กำไร อยู่ที่ปลอกกระสุนว่าจะสามารถเอาปลอกเก่าที่ตีเป็นศูนย์แล้วมาทำใหม่ได้กี่ครั้ง กำไรมันอยู่ตรงนี้ ตอนนี้เราสั่งปลอกของไอเอ็มไอ ซึ่งสามารถ รีโหลดได้เต็มที่ 5 ครั้ง” วิสัยกล่าว

ส่วน “ปืน” นั้น วิสัยมีโครงการผลิตอยู่แล้ว โดยอยู่ในขั้นการเจรจาติดต่อร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศ เป็นการรับชิ้นส่วนเข้ามาประกอบก่อนช่วงแรก เพื่อมาผลิตปืนแบบออโต้และอื่น ๆ ซึ่งการตลาดจะเน้นที่กลุ่มทหารและตลาดราชการมากที่สุด คาดว่าจะผลิตได้ในช่วง 2 หรือ 3 ปีนับจากนี้

จากข้อจำกัดในบ้านเราที่ให้โควตาร้านค้าปืนนำเข้าได้ปีละ 30 กระบอกสำหรับปืนสั้น และ 60 กระบอกสำหรับปืนยาว ฉะนั้น แล้ว 90 กว่ากระบอกนี้ ร้านค้าปืนจะมีอะไรไปพอค่าใช้จ่าย จุดนี้เองที่วิสัยคิดที่จะเปิดการผลิตในเมืองไทยด้วย แม้ว่าจะไม่เน้นมากเท่ากระสุน แต่ก็เพื่อให้คนไทยได้มีปืนที่มีมาตรฐาน และไม่แพงมาขายมาเล่นเพื่อการกีฬากันมากขึ้น แม้จะดูเสมือนเป็นการเปิดตลาดกระสุนซ้อมให้ตนเองไปด้วยก็ตาม

ซึ่งมูลค่าตลาดกระสุนปืนจริง ๆ ทั่วโลกนั้น ไม่มีตัวเลขในที่นี่ แต่โรงงานผลิตกระสุนปืนใหญ่ ๆ มีอยู่ไม่กี่โรงในโลก อาทิ เรมิงตัน, ทีซีไอ, เจสเตอร์ และนิวโอริน แม้ว่าทุกโรงงานก็เดินกำลังเครื่องเต็มที่ถึงวันละหนึ่งล้านนัดอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อตลาดที่มีความต้องการสูงมาก

ซึ่งวิสัยเชื่อว่า การที่ผลิตกระสุนป้อนให้ไม่พอ นั่นเป็นเพราะตลาดกีฬายิงปืนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแบบเงียบ ๆ

วิสัยบอกว่าจากที่เขาได้สำรวจตลาดดู คนไทยพลเรือนมีปืนอยู่ขณะนี้ 2.2 ล้านกระบอก 90% เป็นการใช้เพื่อการกีฬา คือยิงเพื่อความเพลิดเพลิน นอกนั้นก็เพื่อป้องกันตัว จะได้อยู่บ้านอย่างอุ่นใจ อย่างน้อยขโมยขึ้นบ้าน เราก็ป้องกันตัวได้ ที่บอกว่ามีไว้เพื่อเอามาฆ่ากัน จริง ๆ แล้วเป็นปืนเถื่อนทั้งสิ้น

สำหรับความใหญ่โตและกำลังการผลิตของโรงงานบุลเล็ทมาสเตอร์ ถ้าเทียบกับเอกชนด้วยกันแล้วน่าจะอยู่ระหว่างที่ 2 หรือ 3 คือฟิลิปปินส์ใหญ่สุด รองมาคือพีเอ็มซี-เกาหลีใต้ แล้วก็ไทย

โดยงบประมาณของโรงงานบุลเล็ทมาสเตอร์ทั้งหมด เป็นเครื่องมือเครื่องจักรประมาณ 25 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 40 ล้าน รวมอื่น ๆ ทั้งหมดแล้วจะประมาณ 94 ล้าน เป็นเงินลงทุนของตระกูลโสตถิวันวงศ์ 22 ล้าน เพื่อนฝูงช่วยเข้ามา 3.5 ล้าน นอกนั้นเป็นเงินกู้แบงก์

โรงงานบุลเล็ทมาสเตอร์ถือว่าเป็นหนึ่งใน 3 โรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตกระสุนและปืนได้ ซึ่งเจ้าที่ 3 นี้คือบริษัท โกลเด้นอาร์ม ซึ่งก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเริ่มตั้งโรงงานเมื่อใด ตลาดจึงเป็นการขับเขี้ยวระหว่างไทยอาร์มกับบุลเล็ทมาสเตอร์เท่านั้น

วิสัยกล่าวอีกว่า “ผมกำลังจะทำระบบแฟรนไชส์ขึ้น ในลักษณะที่ว่าหากคุณสนใจที่จะเปิดสนามยิงปืน แต่ยังไม่มีความรู้ สามารถที่จะติดต่อทางเรา เพื่อจะเป็นผู้ดำเนินการขอใบอนุญาตให้คุณ ใช้ชื่อคุณ เงินทุนคุณทั้งหมด ในขั้นตอนเขียนใบอนุญาต การออกแบบสนาม เราจะเป็นผู้ดำเนิน แต่คุณต้องหาผู้รับเหมา จ้างคนก่อสร้างด้วย เราจะหาครูมาฝึกสอน คือเราจะให้โนว์ฮาว ทั้งหมด เมื่อมีการแข่งขันเราจะช่วยหาคนไปเป็นกรรมการของการแข่งขัน”

ทั้งนี้ก็มีข้อผูกมัดคือ แฟรนไชส์จะต้องซื้อกระสุนจากบุลเล็ทฯ ทั้งหมด นี่คือสิ่งที่วิสัยต้องการ

บริษัท บุลเล็ทมาสเตอร์ เป็นหนึ่งใน 12 กิจการของตระกูลโสตถิวันวงศ์ ซึ่งมีธุรกิจรวมกันก็ประมาณ 800 ล้านบาท และน่าจะขยับขยายมากขึ้นต่อไปในอนาคต

วิวแอนด์ซีเอส บริษัทโปรดักชั่นเฮาส์ ใหญ่ด้านป้ายโฆษณากลางแจ้งกำลังพุ่งทะยานสู่ตลาดหลักทรัพย์ และจะมีอีกหนึ่งบริษัทชื่อ “วิวคอมมูนเคชั่น” เพื่อดูแลงานด้านโทรคมนาคมโดยเฉพาะ ล่าสุดชนะการประมูลแฟกซ์สโตร์ฟอร์เวิร์ด จากกสท. มาได้ และกำลังยื่นซองโครงการ ทรังค์เรดิโออยู่ขณะนี้

“ตระกูลโสตถิวันวงศ์ ของเราคงหยุดแค่นี้ครับ จะสังเกตได้ว่าตระกูลของเราไม่ค่อยมีธุรกิจใดเหมือนกันทุกอย่าง ซึ่งข้อดีคือ ขยายไปได้อย่างอิสระ และมีหลายฐานแม้เมื่อล้มก็ล้มทีละขา ไม่พันกัน ส่วนข้อเสียก็คือ ควบคุมหรือดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่งตรงนี้ผมกำลังทาบทามนักบริหารมืออาชีพมาดูแลตรงนี้อยู่ คือมาเป็นรองจากคุณพ่อของผมเลย คิดว่าคงจะเปิดเผยตัวได้ในเร็ว ๆ นี้” เอ็มดีหนุ่มกล่าวในที่สุด
gotomanager2

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *